บรรยากาศโดยรวมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทยในรอบปี 2555 ดูซบเซา ไร้ความรู้สึกตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด ส่องกล้องแนวโน้มปี"56 ผ่านมุมมองกูรู
อิงไปกับเทรนด์ของตลาดโลกที่ในภาพรวมก็ยังไม่มีนวัตกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตลาดเกิดความรู้สึก "ว้าว" อย่างที่น่าจะเป็น
สมาร์ทโฟน-แทบเล็ตรุ่งพุ่งแรง
นายประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช รองผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายไอที / ดิจิตอล บมจ. เออาร์ไอพี หนึ่งในกูรูผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอทีไทยและในฐานะผู้จัดงาน "คอมมาร์ต" มองว่า ภาพรวมทิศทางเทคโนโลยีปี 2556 ก็ยังคงเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2555
สินค้าที่น่าจับตามากที่สุดคือ กลุ่มแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และยิ่งเมื่อเทียบกับการเติบโตในตลาด "พีซี" ที่เคยเป็นสินค้าโดดเด่นในอุตสาหกรรมไอทีก็แทบจะเรียกได้ว่า "พีซี" โดยเฉพาะเดสก์ท้อปอาจไม่ต่างกับ "เดธท้อป (Death Top)" ที่มีสภาพใกล้ตาย เพราะแม้จะมีระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง "วินโดว์ส 8" ออกมาเป็นตัวกระตุ้นตลาด แต่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวก็กลับมุ่งเน้นการทำงานบนโน้ตบุ๊คและแทบเล็ตเป็นหลัก ไม่ใช่ "เดสก์ท้อป" หรือพีซีตั้งโต๊ะ
นอกจากนี้ข่าวการดีไซน์ชิพให้อยู่บนเมนบอร์ดของอินเทลยังทำให้ "เสน่ห์ของเดสก์ท้อป" ดรอปลงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นอีก เพราะคนนิยมเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่มักเลือกที่จะดีไซน์สเปคเครื่องของตัวเองและสามารถอัพเกรดความแรงของซีพียูตามใจต้องการ แต่เมื่ออินเทลทำให้ชิพฝังอยู่บนเมนบอร์ดก็เหมือนเป็นการปิดทางไม่ให้อัพเกรดความแรงได้อีก
ทั้งนี้่ประกอบกับกระแสความนิยมของการใช้สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตยิ่งเข้ามากลบให้ตลาดพีซีถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
ยักษ์ใหญ่หาช่องทางโกยเงิน
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากตลาดพีซีแล้ว บริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของโลกก็ยังคงมีนวัตกรรมที่พยายามเรียกมนต์ขลังในตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแอ๊ปเปิ้ล ซัมซุง กูเกิล อะเมซอน และเฟซบุ๊ค ที่เป้าหมายสุดท้ายก็คือ ความพยายามที่จะสร้างรายได้จากเทคโนโลยีที่ตัวเองมี หรือการเติมเต็มสิ่งที่ขาดเพื่อให้ครบอีโค่ซิสเต็มส์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และคอนเทนท์ ไม่ว่าจะเป็นการทำมือถือ แทบเล็ต ของบริษัทซอฟต์แวร์ หรือบริษัทฮาร์ดแวร์ก็เริ่มพัฒนาคอนเทนท์เพื่อให้ใช้งานได้กับอุปกรณ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึง "ยูทูบ" ที่จะเริ่มสร้างช่องทางหารายได้ทั้งจากคอนเทนท์ที่ยูทูบจะโดดลงมาผลิตเองและความร่วมมือกับพันธมิตร
"ในไทย เทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็จะอิงกับตลาดโลก ซึ่งหลักๆ ที่มาแน่ๆ ก็บรรดาสมาร์ทโฟน แทบเล็ต และสมาร์ท ทีวี เพราะปีนี้เราจะมีไลเซ่นดิจิทัล ทีวีออกมา ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้คนอยากเปลี่ยนทีวีไปอัตโนมัติ ดูคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ตได้ด้วย เพราะธรรมชาติคนเราก็ไม่ได้อยากดูหลายๆ จอ ถ้าทุกอย่างทำได้บนหน้าจอเดียวก็น่าจะดีกว่า"
ปีแห่งเทคโนฯรอบตัว
กูรูไอทียังเชื่อว่า ปี 2556 จะเป็นปีที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวผู้คนตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน นอน และเริ่มเปลี่ยนแปลงความสามารถจากเดิมที่อุปกรณ์หนึ่งอย่างมีความสามารถสำหรับงานเฉพาะแต่กลายเป็นทำได้ทุกอย่างในเครื่องเดียว ซึ่งชัดเจนที่สุดคือ มือถือที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสำหรับสื่อสารด้วยเสียงเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชั่นที่ทำงานได้ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์ย่อมๆ เครื่องหนึ่ง
ปัจจัยที่ทำให้เข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีอยู่รอบตัวได้คือ ความพร้อมของ 3จี, ตลาดดิจิทัล คอนเทนท์และบริการต่างๆ เติบโตขึ้น และกระแสของสมาร์ท ดีไวซ์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, กล้อง, ทีวี หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง) เช่น ตู้เย็น และรถยนต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน
"3จีที่สมบูรณ์แบบจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลลื่นไหล ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาดิจิทัล คอนเทนท์ที่จะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ขณะเดียวกันโฉมหน้าของร้านค้าปลีกก็จะเริ่มเปลี่ยนไป ร้านค้าต้องมีแอพพลิเคชั่นของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าดูสินค้าได้ก่อน ส่วนหน้าร้านก็จะกลายเป็นที่โชว์สินค้าหรือมีไว้รับสินค้าเท่านั้น"
บันไดสู่บริการใหม่
นอกจากนี้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สะดวกมากขึ้นยังต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "คลาวด์ คอมพิวติ้ง" ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ทำให้การจัดเก็บไฟล์ดิจิทัลต่างๆ สามารถทำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เกิดเป็น "เพอร์ซัลแนล คลาวด์" ที่ผู้ใช้แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีสตอเรจจำนวนมากๆ เพื่อเก็บไฟล์ขนาดใหญ่ แต่สามารถเลือกใช้บริการคลาวด์ เซอร์วิสต่างๆ เพื่อฝากไฟล์ไว้และเมื่อต้องการใช้งานก็เรียกผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ใด หรืออุปกรณ์ใดก็ได้
อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไป แต่ก็ต้องไม่ลืมประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งกูรูไอทีมองว่า ปี 2556 จะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรหัสผ่าน หรือพาสเวิร์ดให้ซับซ้อนมากขึ้น เพราะในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั่วโลกมีข่าวว่าพาสเวิร์ดถูกโขมยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเดาได้ง่าย ในขณะที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทำให้ช่องโหว่ของการใช้งานก็เริ่มสูงตามไปด้วย
"แพทเทิร์นของพาสเวิร์ดในปีใหม่จะเริ่มซับซ้อนขึ้นเพื่อให้ยากต่อการเดา ซึ่งเป็นไปได้ที่วงการจะเริ่มกลับมาใช้ระบบไบโอเมตริกซ์ หรือการใช้บางส่วนของร่างกายเพื่อปลดล็อก เช่น เส้นเลือดบนฝ่ามือ หรือสแกนม่านตาร่วมกับการใส่พาสเวิร์ดแบบเดิม เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ปลอดภัยมากขึ้น"
Cr: www.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น